โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข





โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข

       เมื่อวันหนึ่งสุนัขที่สูงอายุของคุณนั้นเคยซุกซน กลับเอาแต่นอนทั้งวันไม่สนใจสิ่งรอบกาย ไม่ทักทายเจ้าของเหมือนเคย สุนัขรุ้สึกยินดียินร้ายหรือไม่ทำตามคำสั่ง เหมือนดังก่อน และกลับก้าวร้าวขึ้น อยู่ดีๆ ก็กัดและจู่โจมเจ้าของ หลายคนอาจคิดว่าอาการเหล่านี้เป็นปกติในสุนัขแก่ แต่ ความจริงแล้วพฤติกรรมดังกล่าวนั้นถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า สุนัขของเรากำลังป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมนั่นเองถ้าหาก เรียกว่า “โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease)” แล้วล่ะก็ หลายคนคงร้องอ๋อกันเลยทีเดียว

โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข คืออะไร

       โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข เป็นโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากเซลส์สมองตาย ทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว การควบคุมอารมณ์ ความทรงจำ ถึงขั้นไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเช่นเดิมได้ ในระยะท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด เช่นเดียวกับอัลไซเมอร์ในคน 

สาเหตุการเกิดโรค

       ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดในการเกิดโรค แต่จากการผ่าซาก พบสาเหตุที่ทำให้สมองเสื่อม คือ มีการสะสมของสาร โปรตีนที่ทำลายเซลล์ประสาท โดยการปลดปล่อยอนุมูลอิสระออกมา เซลล์ประสาทก็จะไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลกลูโคส จากเลือดเข้าไปในเซลล์ได้อีกต่อไป และเมื่อเซลล์ขาดกลูโคส เซลล์ก็ตายเพราะขาดพลังงาน การที่สมองมีโปรตีนชนิดที่เป็นสาเหตุการทำลายหุ้มอยู่ จะทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทในสมองถูกยับยั้ง อีกทั้งระดับของ Dopamine ในสมองที่ลดลงด้วย ก็ทำให้การสั่งการของสมองหยุดชะงักลง

 อาการของโรค

       1. ไม่รับรู้สภาวะการณ์

เมื่อเรียกชื่อแล้วไม่ตอบสนอง นิ่งเฉยไม่ทำตามคำสั่งเจ้าของ เอาแต่ยืนจ้องมองกำแพงเป็นเวลานาน ไม่รู้จักการหลบสิ่งของที่กีดขวางในบ้านบางทีติดอยู่ในมุมห้องเพราะจำทางออกไม่ได้ หรือเดินวนไปวนมาไม่ยอมหยุด มีอาการที่เห่าโดยไร้สาเหตุ และที่ร้ายแรงคือ เริ่มเป็นเด็กก้าวร้าวส่งเสียงขู่และอาจไล่งับเจ้าของ 

       2. ปฏิสัมพันธ์เปลี่ยน

           • เมื่อมีการเรียกหรือทักทายก็ไม่ทักทายเจ้าของหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ  ไม่สนใจสิ่งรอบตัว เมื่อลูบหัวก็ไม่สนใจแต่กลับเดินหนีไปเฉยๆ

       3. การนอนหลับเปลี่ยนไป

           • นอนหลับยาวนานในช่วงเวลากลางวัน และพอกลางคืนไม่ยอมนอน ชอบเดินไปเดินมา 

       4. สูญเสียสิ่งที่เคยเรียนรู้มา

           • ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างในบ้านและนอกบ้านได้ บางทีก็ทำท่าขุดดินในบ้าน เนื่องจากคิดว่าเป็นพื้นดิน

           • ขับถ่ายหรือปัสสาวะในบ้าน เพราะคิดว่าเป็นสนามนอกบ้านลืมวิธีการป้องกันตัวหรือหลบหลีกมักเกิดอุบัติเหตุเมื่ออยู่ในบ้าน หรือนอกบ้าน

 การรักษาโรค

       สำหรับการรัษาอาการอัลไซเมอร์ในสัตว์นั้นในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่หายขาด มีแค่ชะลอการเสื่อมของสมอง ทำให้สุนัขสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ และมีชีวิตที่ยาวขึ้นหลังจากเป็นโรคนี้ 

สำหรับยาที่ใช้รักษาโรคนี้จะเป็นยาของโรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) ในคน ในชื่อ Selegiline hydrpchloride (L-deprenyl HCl) ที่สามารถใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ในสุนัขได้ พบว่าสุนัข 75 เปอร์เซ็นต์ จะมีอาการดีขึ้นภายใน 1 เดือน และน้องหมาสามารถมีชีวิตยาวนานขึ้นเฉลี่ยประมาณ 1-2 ปี นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยให้อาหารเสริมบำรุงสมองร่วมด้วย ได้แก่ วิตามินบีรวม วิตามินซี กรดไขมันโอเมก้า-3 และเบต้าแคโรทีน เป็นต้น

วิธีการดูแลน้องหมาอัลไซเมอร์

       1. ให้ความสนใจกระตุ้นอารมณ์สุนัข เช่น เล่นด้วย พาไปเดินเล่น พูดคุยเป็นประจำ

       2. เมื่อพาไปนอกบ้านต้องใส่สายจูง เพื่อป้องกันสุนัขหลงทางหรือได้รับอันตราย

       3. เมื่ออยู่ในบ้านใส่กระดิ่งเสียงดังๆ ที่ปลอกคอ เพื่อจะได้รู้ว่าเค้าอยู่ตรงไหน

       4. ไม่ย้ายข้าวของภายในบ้าน เพื่อลดความเครียดให้สุนัข

       5. ควรให้อาหารสูตรเสริมอาหารบำรุงสมองในอาหารด้วย

       6. เตรียมที่นอนที่สบายให้สุนัขและควรเตรียมไว้หลายๆ ที่ ที่ที่สุนัขชอบไปนอน

       ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว โรคอัลไซเมอร์ นี้ก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก เพราะก็เหมือนระเบิดเวลาที่เริ่มนับถอยหลังที่เข้ามาปิดหลอดไฟในสมองให้ค่อยๆ ดับลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการยากที่จะทำใจยอมรับ เพราะทำได้แต่เฝ้าดูและนับถอยหลัง จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตนั่นเอง