โรคลมชักในสุนัขและแมว (epilepsy)





โรคลมชักในสุนัขและแมว (epilepsy)

     อาการเจ็บป่วยสามารถเกิดขึ้นได้เสมอกับน้องหมา แมว อย่างโรคลมชักในสุนัขและแมว หรือ epilepsy เป็นโรคที่เกิดมีสาเหตุเกิดจากการที่มีคลื่นไฟฟ้าในสมองผิดปกติ หรือที่สามารถเข้าใจง่าย ๆ ก็คือการเกิดไฟฟ้ารั่วในสมอง ทำให้เกิดอาการชัก (seizure) ให้เห็น โดยสามารถพบได้ทั้งในสุนัขและแมว

ชนิดของอาการโรคลมชัก

1. การชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (Generalized epilepsy)

     เป็นการชักที่เกิดขึ้นจากการที่มีการกระจายตัวของกระแสไฟฟ้าที่รั่วไปทั่วทั้งสมอง แสดงอาการแบบชักเกร็งกระตุกทั้งตัว อาจพบอาการเหยียดเกร็งแหงนคอ ร่วมกับอาการตะกรุยขาทั้ง 4 ข้าง อาจพบอาการน้ำลายไหล ปัสสาวะหรืออุจจาระราด รวมทั้งสามารถพบอาการร้องครางขณะชักร่วมด้วย บางครั้งจะพบอาการกัดลิ้นได้บ้างเช่นเดียวกับการชักในคน พบอาการได้ตั้งแต่เพียงแค่ไม่กี่วินาทีจนถึงหลายนาทีได้ 

2. การชักเกร็งบางส่วน (Focal seizure)

     เป็นการชักที่เกิดขึ้นจากการที่มีกระแสไฟฟ้าที่รั่วเพียงแค่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของสมองเท่านั้น ทำให้สุนัขหรือแมวมีอาการกระตุกเกร็งแค่เพียงกล้ามเนื้อบางส่วนของร่างกายเท่านั้น 

     อาการที่พบบ่อย เช่น การกระตุกของใบหน้า การกระตุกของขาข้างใดข้างหนึ่ง อาการงับอากาศ อาการเคี้ยวปาก เป็นต้น โดยการชักเกร็งบางส่วนจะพบว่าระดับความรู้สึกตัวยังเป็นปกติ อาจพบอาการเพียงแค่ไม่กี่วินาทีจนถึงหลายนาทีได้ ซึ่งการชักแบบนี้เป็นการชักที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงอาจจะสังเกตได้ยากกว่าการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว ซึ่งบ่อยครั้งที่การชักเกร็งบางส่วนถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยยาระงับชักจะสามารถพัฒนาไปเป็นการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวได้ในอนาคต

สาเหตุของการเกิดลมชัก

1. การเกิดลมชักจากพันธุกรรม

2. การเกิดลมชักจากความผิดปกติของสมอง

3.การเกิดลมชักจากโรคหรือความผิดปกติจากภายนอกสมอง         

4.การเกิดลมชักที่ยังไม่ทราบสาเหตุ

การรักษาอาการชัก

     การรักษาอาการชักนั้น เพื่อลดความถี่ของการชักและป้องกันไม่ให้เกิดการชักแบบต่อเนื่องจนทำให้สุนัขหรือแมวเสียชีวิต ระยะห่างของการชักที่สามารถยอมรับได้คือ ระยะเวลาการชักแต่ละครั้งต้องมีความถี่ห่างกันมากกว่า 3 เดือน หากรชักถี่กว่านั้นต้องปรับยา หรือ เพิ่มยาระงับชักชนิดอื่นกินควบคู่กันไปด้วย ยาระงับชักแต่ละชนิดมีการใช้แตกต่างกันไป อาจต้องมีการตรวจเลือดเพื่อดูระดับยาในเลือดและค่าเลือดต่าง ๆ 

     หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงพบอาการชักหรือสงสัยว่าน้องหมาแมวมีอาการชัก ให้นำไปพบสัตวแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงที ป้องกันไม่ให้พัฒนาไปเป็นการชักแบบต่อเนื่องเพราะสัตว์เลี้ยงอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้หากสามารถถ่ายคลิปขณะที่อาการชักทั้งการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวหรือการชักบางส่วน ไว้ด้วยจะเป็นข้อมูลที่ดีในการประกอบการวินิจฉัยของสัตวแพทย์ได้