โรคมักเกิดขึ้นกับหมา เมื่อเข้าสู่วัยชรา





โรคมักเกิดขึ้นกับหมา เมื่อเข้าสู่วัยชรา 

     เวลาที่สัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้นก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ความคล่องตัว หรือพฤติกรรมต่างๆ ก็มีการเปลี่นไป ทั้งลักษณะภายนอก และภายใน ที่เราอาจสังเกตเห็นบ่อย ๆ ก็คงเป็นเรื่อง ขนที่อาจไม่สวยงามเหมือนก่อน ฟันที่อาจมีการหักกร่อน ความคล่องตัว อาจลดลง ความซุกซนจากที่เคยมี ก็นิ่งมากขึ้น 

     สำหรับการเปลี่ยนแปลงภายนอกนั้นอาจเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไรนัก แต่สำหรับสุขภาพนั่นอาจเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเพิ่มขึ้น เพราะโรคภัยบางอย่างสามารถเห็นได้จากภายนอก อาทิเช่น เรื่องเกี่ยวกับฟัน สีขน ผิวหนัง แต่สำหรับโรคภัยบางอย่างเราไม่อาจทราบได้ด้วยตาเปล่า  เช่น โรคไต หรือ โรคลิ้นหัวใจรั่วระยะเริ่มแรก ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องใช้การวินิจฉัยจากสัตวแพทย์ สำหรับโรคภัยที่เราควรรู้และพร้อมทำการรับมือนั้นมีโรคอะไรบ้าง มาดูกันเลย

โรคที่มักพบในสุนัขสูงวัยที่อายุ 10 ปีขึ้นไป 

1.โรคปริทันต์ (Periodontal disease) ก็เหมือนที่เรารู้กัน ก็คือโรคที่เกี่ยวกับเหงือกและฟัน เช่น เหงือกอักเสบ จนส่งผลให้กินอาหารลำบากและน้ำหนักตัวลดลง

2.โรคกระดูกและข้อเสื่อม (Osteorthritis)มักจะพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่สุนัข และสุนัขที่ไม่ค่อยอยากลุก กระโดด ดูเคลื่อนไหวช้าลง หรือ ร้องเจ็บเวลาเคลื่อนไหว 

3.โรคตา (Eye disorders) โดยเฉพาะโรคตาแห้ง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างแผลที่กระจกตาตามมาได้ หรือ โรคต้อชนิดต่างๆ ที่ส่งผลต่อการมองเห็นของสุนัข สุนัขที่มักมีอาการเหล่านี้ก็จะเป็นสุนัขที่มีลักษณะตาโต  ๆ อย่าง ปั๊ก ปอม ชิวาวา มินิเนเจอร์ เป็นต้น

4.โรคไต (Chronic Kidney Disease) เป็นโรคที่เจอได้บ่อยเช่นกัน อาการที่พบบ่อยๆคือ ซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาเจียน และ ถ่ายเหลว ซึ่งในโรคไตสามารถส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางตามมาได้เช่นกัน

5.โรคระบบสืบพันธุ์-ปัสสาวะ (Genitourinary disease) เช่น โรคต่อมลูกหมากโตในสุนัขเพศผู้ยังไม่ทำหมันส่งผลให้สุนัขขับถ่ายลำบากหรือปวดช่องท้อง และ โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะทำให้มีอาการฉี่ขัด ฉี่เป็นเลือด เป็นต้น

6.โรคหัวใจ (Heart disease)มีตั้งแต่ลิ้นหัวใจรั่ว การบีบตัวของหัวใจที่ผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจได้โดยการทำ Echocardiogram เพื่อดูลักษณะการทำงานของหัวใจ

7.โรคมะเร็ง (Cancers) ที่สังเกตเห็นชัดสุดคือมะเร็งที่เห็นจากภายนอก เช่น มะเร็งผิวหนังชนิดต่างๆ หรือ มะเร็งเต้านม (Mammary Gland Tumors)

8.สมองเสื่อม (Canine Cognitive Dysfunction) เช่น สุนัขที่ชอบหอนตอนกลางคืน ดูหลงลืม เหม่อลอย เป็นต้น

     สุดท้ายนี้ ไม่ว่าสัตว์เลี้ยงของท่านจะอยู่ในช่วงอายุใด ก็ควรพาเจ้าสี่ขาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ และถ่ายพยาธิอย่างน้อยทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี และใช้ยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจทุกเดือน พร้อมทั้งดูแลอาหารที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย โรคบางอย่างยิ่งตรวจเจอเร็วเท่าไร ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้เร็ว ทำให้คุณภาพชีวิตของน้อง ๆ ดีขึ้น และอยู่กับท่านได้ยาวนานขึ้น