การเทียบช่วงอายุสุนัขกับมนุษย์





การเทียบช่วงอายุสุนัขกับมนุษย์

     เคยคิดกันเล่น ๆ ไหมว่าที่บอกว่าสุนัขของเราที่เลี้ยงนั้นกำลังกลายเป็นสุนัขที่ชรา ค่าว่าสุนัขแก่หรือชรานี่จะอยู่ที่อายุเท่าไร และถ้าเทียบกับมนุษย์จะประมาณกี่ปี่ น่าจะคงเคยได้ยินว่าถ้าเอาอายุสุนัขคูณด้วย ‘7’ เราก็จะได้เป็นอายุที่เทียบเท่ามนุษย์

     แต่มีงานวิจัยใหม่ออกมาว่า เปรียบเทียบอายุสุนัขกับมนุษย์ ไม่ได้เทียบแค่การคูณด้วยเจ็ดอย่างที่เราเคยได้ยินแต่สูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่เป็นค่า Logarithm คือ “อายุมนุษย์ = 16ln(อายุสุนัข)+31” ยกตัวอย่างเช่น สุนัขอายุ 4 ปี เมื่อเทียบในสูตรจะเทียบเท่าอายุมนุษย์ 53 ปี 

     ซึ่งผลที่ได้เป็นอายุโดยคร่าว ๆ ของสุนัข แต่ทั้งนี้ด้วยความที่อายุขัยสุนัขพันธุ์เล็กและพันธุ์ใหญ่มีความต่างกันออกไป 

  • แบ่งช่วงอายุสุนัข

เราสามารถแบ่งช่วงอายุสุนัขได้เป็น 4 ช่วงวัยด้วยกันประกอบด้วย

  1. วัยเด็ก คือ ช่วงตั้งแต่เกิดมาจนถึงช่วงวัยเจริญพันธุ์ ในสุนัขคือ 2-6 เดือน
  2. วัยรุ่น คือ ช่วงตั้งแต่เจริญพันธุ์จนเจริญเติบโตสมบูรณ์ ในสุนัขคือ 6 เดือน – 2 ปี
  3. วัยผู้ใหญ่ คือ ช่วงตั้งแต่สุนัขอายุ 2-7 ปี
  4. วัยชรา คือ สุนัขอายุมากกว่า 7-12 ปีขึ้นไป
  • แล้วพันธุ์ไหนอายุยืนกว่ากันล่ะ ?

     อายุขัยของสุนัขแต่ละพันธุ์นั้นต่างกันออกไป สมาคมสัตวแพทย์ของอเมริกาได้มีการกล่าวไว้ว่า “สุนัขพันธุ์เล็กและแมวจะเข้าสู่ช่วงวัยชรา ตั้งแต่อายุ 7 ปีขึ้นไป สำหรับคำถามว่าสุนัขสายพันธุ์ไหนที่มีอายุยืนคงพอมีคำตอบได้ว่า สุนัขพันธุ์เล็กจะมีอายุขัยที่ยาวนานกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่

 โดยอายุขัยเฉลี่ยของน้องแมวคือ 12-20 ปี ส่วนสุนัขพันธุ์เล็กคือ 15-16 ปี และน้องหมาพันธุ์ใหญ่คือ 12-13 ปี โดยสุนัขแต่ละสายพันธุ์ก็มีอายุขัยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น โรคประจำพันธุ์ การเลี้ยงดู

  • ข้อสังเกตเมื่อว่าสุนัขเข้าสู่วัยชรา

     เราจะสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเวลาที่สัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้นบางอย่างได้จากภายนอก เช่น สีขนที่เริ่มขาวขึ้น ฟันที่เริ่มสึก หรือ พฤติกรรมที่เริ่มเปลี่ยนไป รวมไปถึงเรื่องของโรคที่เกี่ยวกับระบบด้วยอายุที่มากขึ้น นั่นก็อาจหมายถึงโรคประจำตัวที่อาจเริ่มแทรกซ้อนเข้ามาด้วย แต่โรคบางอย่างเราไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกในระยะเริ่มต้น เช่น โรคไต หรือ โรคลิ้นหัวใจรั่วระยะเริ่มแรก 

     ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องใช้การวินิจฉัยจากสัตวแพทย์และอาจต้องใช้เครื่องมือในการตรวจเฉพาะทาง ดังนั้นเราจึงควรหมั่นคอยสังเกต และคอยดูแลพฤติกรรมของเจ้าสี่ขาอยู่เสมอ ควรพาไปตรวจสุขภาพ รับวัคซีน รวมถึงคอยดูแลเมื่อเห็นอาการผิดปกติเพื่อเจ้าสี่ขาจะได้อยู่กับเราจนตราบช่วงอายุสุดท้ายนั่นเอง